Cloudways เป็นบริการที่ครอบเซิร์ฟเวอร์คลาวด์อย่าง DigitalOcean หรือ Amazon AWS เอาไว้อีกต่อหนึ่ง โดยตัวบริการนั้นจะช่วยเปิดเซิร์ฟเวอร์บนผู้ให้บริการคลาวด์ที่ผู้เลือก (รองรับ Linode, Vultr, Amazon AWS, Google Cloud Platform, และ Kyup) พร้อมกับตั้งค่าต่างๆ รวมถึงคอยดูแลอัพเดทซอฟต์แวร์ให้อัตโนมัติ โดยที่ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวในส่วนนี้เลย
ฟีเจอร์เด่นๆ ของ Cloudways มีดังนี้
- รองรับระบบแคชต่างๆ ทั้ง Memcached, Varnish, Redis ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทั้งการประมวลผลและฐานข้อมูล
- มีปลั๊กอิน Breeze ซึ่งเป็นปลั๊กอินแคชสำหรับเวิร์ดเพรสมาให้ ซึ่งทำงานร่วมกับระบบแคชจากข้อแรกได้ทันที
- มีปลั๊กอิน Migrator สำหรับย้ายเว็บเวิร์ดเพรสมายัง Cloudways ให้อัตโนมัติ
- รองรับ HTTP/2 ช่วยเพิ่มความเร็วเชื่อมต่อระหว่างเซิร์ฟเวอร์และผู้ใช้
- รองรับ PHP7 และ PHP-FPM ช่วยให้เว็บ PHP สามารถประมวลผลได้เร็วขึ้น
- รองรับ Let’s Encrypt ติดตั้ง SSL ฟรีได้ในคลิกเดียว
- รองรับการดีพลอยเว็บผ่าน Git
- มีระบบ Firewall ป้องกันการโจมตี และสามารถ Whitelist หมายเลข IP ที่จะ SSH หรือ FTP เข้ามาได้
- มีระบบ Monitoring สามารถดูสถานะเครื่องได้ตลอดเวลา
- สามารถ restart เซิร์ฟเวอร์ได้อัตโนมัติหากซอฟต์แวร์แครช
- อัพเดทซอฟต์แวร์ในเซิร์ฟเวอร์ให้อัตโนมัติ
นอกจากเวิร์ดเพรสแล้ว Cloudways ยังรองรับ CMS/Framework อื่นๆ ด้วย เช่น Drupal, Joomla, Magento, Moodle, หรือ Laravel ซึ่งในกรณีของ Magento นั้นยังรองรับการทำ Full-page cache อีกด้วย
สมัครใช้งาน Cloudways (ลิงก์เป็น Affiliate)
ค่าใช้จ่ายในการใช้ Cloudways
ค่าบริการของ Cloudways นั้นจะเริ่มต้นที่เดือนละ $10 (หรือมาณสามร้อยกว่าบาท) โดยจะแบ่ง $5 เป็นค่าใช้จ่ายในการเปิด Droplet ตัวต่ำสุดบน DigitalOcean หรือถ้าผู้ใช้อยากใช้บริการของเจ้าอื่นก็สามารถเลือกได้ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องมีบัญชีของผู้ให้บริการคลาวด์เหล่านี้แต่อย่างใด
สเป็คเบื้องต้นของ Droplet ที่เปิดขึ้นมีดังนี้
- แรม 1GB
- ซีพียู 1 Core
- พื้นที่ 25GB
- แบนด์วิด 1TB
สเป็คขั้นต้นนั้นสามารถใช้โฮสต์เว็บไซต์ที่โหลดไม่สูงนักได้สามถึงสี่เว็บได้อย่างสบาย โดยในเซิร์ฟเวอร์หนึ่งตัว (หนึ่ง Droplet) นั้นผู้ใช้จะใช้โฮสต์เว็บไซต์กี่เว็บก็ได้ แต่ข้อควรระวังคือถ้าโฮสต์เอาไว้มากเกินไป เซิร์ฟเวอร์ก็อาจจะทำงานช้า และอาจจะต้องขยายสเป็คเซิร์ฟเวอร์ในภายหลัง
เริ่มต้นใช้งาน Cloudways
สมัครใช้งาน Cloudways (ลิงก์เป็น Affiliate)
เข้ามาแล้วให้กดปุ่ม Get started for free ได้เลย

จากนั้นมันจะพาผู้ใช้ไปหน้าสมัครสมาชิก เพียงแค่กรอกอีเมล รหัสผ่าน และตอบคำถามสองข้อ ก็เป็นอันเสร็จ จากนั้น Cloudways จะส่งอีเมลยืนยันมาฉบับหนึ่ง เมื่อกดยืนยันบัญชีแล้วก็จะพร้อมใช้งานทันที

เมื่อยืนยันอีเมลแล้ว Cloudways ก็จะพาเข้าสู่หน้าสร้างเซิร์ฟเวอร์ในทันที

ในช่อง Select your Application ให้กดเลือกเป็น WordPress 4.9.2 (ตอนเขียนนี้เวอร์ชันล่าสุดเป็น 4.9.4 แต่เรากดอัพเดททีหลังเองได้) หรือใครที่ใช้กับ WooCommerce ด้วยก็เลือกเป็นอันที่มี WooCommerce มาให้ในตัว (เข้าใจว่าอาจจะมีการตั้งค่าต่างกัน) จากนั้นให้ตั้งชื่อต่างๆ ให้เรียบร้อย

ชื่อต่างๆ จะเรียงจากเล็กไปใหญ่ ดังนี้
- Managed App คือชื่อของแอพนั้นๆ (ในกรณีนี้อาจจะเป็นชื่อเว็บ)
- Managed Server คือชื่อของเครื่องเซิร์ฟเวอร์ (หนึ่งเซิร์ฟเวอร์เก็บได้หลายแอพ)
- Project คือชื่อของโปรเจ็กท์ (หนึ่งโปรเจ็กท์สามารถมีได้หลายเซิร์ฟเวอร์)
โดยชื่อเหล่านี้เราจะตั้งอะไรก็ได้ตามแต่สะดวก
จากนั้นให้เลือกผู้ให้บริการ (แนะนำ DigitalOcean เพราะถูกที่สุด) และกำหนดสเป็คของเซิร์ฟเวอร์ โดยในกรณีของ DigitalOcean เราจะกำหนดได้แต่ขนาดแรมเท่านั้น (ตามแพลนบริการของ DigitalOcean คอนฟิกอื่นๆ ของเซิร์ฟเวอร์ก็แปรผันตามขนาดแรมเช่นกัน) และให้เลือก Location เป็น Singapore (สิงคโปร์) เพื่อให้ผู้ใช้ในไทยสามารถเข้าถึงได้อย่างรวดเร็ว (หรือใครเน้นให้บริการในภูมิภาคอื่น ก็เลือกเอาตามที่เหมาะสม)

เมื่อเลือกขนาดเซิร์ฟเวอร์ได้แล้ว ด้านล่างจะมีสรุปค่าใช้จ่ายรายเดือนมาให้ (ถ้าใช้ไม่ครบเดือนจะคิดเป็นเรทรายชั่วโมง พอใช้ชั่วโมงถึง $10 ก็จะตัดเป็นรายเดือนไป) ซึ่งในขั้นตอนนี้ผู้ใช้ยังไม่จำเป็นต้องกรอกรหัสบัตรเครดิต/เดบิตแต่อย่างใด โดยจะสามารถทดลองใช้งานได้ฟรี 3 วัน
สำหรับใครที่ไม่มีบัตรเครดิต/เดบิต สามารถใช้แอพอย่าง True Wallet และเปิดใช้บริการ WeCard เพื่อเอารหัสบัตรมากรอกสำหรับใช้งานได้เช่นกัน โดยผู้ใช้จะต้องเติมเงินเข้าไปในแอพก่อน (สามารถเติมเงินได้ตามเซเว่นอีเลฟเว่น บัตรเครดิต บัตรเดบิต หรือจากบัญชีธนาคารก็ได้ด้วยเช่นกัน)
พร้อมแล้วก็กด Launch Now เขียวๆ เพื่อเริ่มต้นการตั้งค่าอัตโนมัติได้ทันที

Cloudways จะใช้เวลาประมาณ 10-15 นาทีในการเซ็ตอัพเซิร์ฟเวอร์ให้เรา ระหว่างนี้ก็นั่งรอหาอะไรกินเล่นไปพลางๆ ก่อนก็ได้

เมื่อไฟเขียวแล้วก็ถือว่าพร้อมใช้งาน

ทางด้านขวาจะสังเกตุเห็นคำว่า www และไอคอนโฟลเดอร์ปรากฎอยู่ ตัวเลขตรง www นั้นหมายถึงว่าเซิร์ฟเวอร์ตัวนี้มีเว็บไซต์อยู่ทั้งหมดกี่เว็บ และไอคอนโฟลเดอร์หมายถึงว่าเซิร์ฟเวอร์ตัวนี้ใช้งานอยู่ในกี่โปรเจ็กท์
ให้เราคลิกที่ www แล้วเลือกเว็บไซต์ของเรา

ในหน้าแรกนี้จะเป็นส่วนของ Access Details ซึ่งจะบอกรายละเอียดเกี่ยวกับเว็บไซต์ของเรา เช่น URL ของเว็บ, บัญชีและรหัสผ่านของแอดมิน ซึ่งในขั้นตอนนี้เว็บเราก็สามารถเข้าถึงได้แล้ว (เดี๋ยวจะพูดถึงขึ้นตอนการเซ็ตอัพโดเมนอีกที) ทั้งนี้ให้ผู้ใช้ทำการตั้ง Username และ Password ของ Application Credentials ที่อยู่ด้านขวามือให้เรียบร้อยในตอนนี้ด้วย

ย้ายเว็บเดิมมายัง Cloudways ผ่านปลั๊กอิน Cloudways WordPress Migrator
ในการย้ายเว็บเดิมมายัง Cloudways นั้นสามารถทำได้ง่ายๆ ผ่านปลั๊กอิน Cloudways WordPress Migrator โดยผู้ใช้เข้าไปยัง wp-admin ของเว็บเดิม แล้วติดตั้งปลั๊กอินตัวดังกล่าวพร้อมเปิดใช้งานให้เรียบร้อย

เมื่อกด Activate ปลั๊กอินแล้ว มันจะพามายังหน้า Migration ในทันที ทั้งนี้แนะนำว่าหากเปิดใช้งานปลั๊กอินแคชใดๆ เอาไว้ ควรไปปิดการใช้งานเสียก่อน และ Cloudways จะติดตั้งปลั๊กอิน Breeze สำหรับการทำแคชมาให้อัตโนมัติในระหว่างขั้นตอนการ Migrate
เมื่อพร้อมแล้วก็กลับมายังหน้า Migration จะพบหน้าจอแบบนี้

ในหน้านี้ให้กรอกข้อมูลดังนี้
- Email กรอกเป็นอีเมลที่เราใช้สมัครสมาชิก Cloudways
- Destination Site URL กรอก URL ของเว็บไซต์เราบน Cloudways (จาก Application URL ในหน้า Access Details)
- Application Folder Name กรอกชื่อแอพพลิเคชันที่เราตั้งเอาไว้ (ชื่อ Managed App)
- SFTP Server Address กรอกหมายเลข IP ของเซิร์ฟเวอร์ (Public IP จาก Application Credentials ในหน้า access Details)
- SFTP Username กรอก Username ที่ตั้งเอาไว้ที่ Application Credentials
- SFTP Password กรอก Password ที่ตั้งเอาไว้ที่ Application Credentials
เรียบร้อยแล้วกด Migrate ได้เลย
ระบบ Migration นั้นจะใช้บริการของ BlogVault ซึ่งจะใช้เวลาตั้งแต่ 15 นาทีไปจนถึงหลายชั่วโมง ขึ้นอยู่กับว่าเว็บของเรานั้นมีข้อมูลอยู่มากน้อยแค่ไหน ซึ่งหลังจากเรากินอะไรเล่นๆ ไปตอนรอ Cloudways เซ็ตอัพเซิร์ฟเวอร์แล้ว ในขั้นตอนนี้จะออกไปซื้อข้าวกินก็ยังพอมีเวลา

ในขั้นตอน Migration นั้น ปลั๊กอินจะทำการแก้ไข URL ต่างๆ ให้อัตโนมัติ ทำให้สามารถเปิดใช้งานได้ในทันทีที่ขั้นตอน Migration เสร็จสมบูรณ์

แก้ไข URL เว็บไซต์ ใช้โดเมนเนมของเราเอง
URL ที่ Cloudways ให้มานั้นหากจะเอามาใช้จริงเห็นทีคงจะเป็นไปไม่ได้ และการแก้ไขโดเมนเนมบน Cloudways ก็ไม่ได้ยากลำบากสักเท่าไหร่นัก โดยขั้นแรกให้เรากลับไปยังหน้า Application Management เสียก่อน (หากปิดไปแล้ว ให้ล็อกอิน Cloudways ใหม่ กดเลือกที่เมนู Application และเลือกเว็บไซต์ของเรา) จากนั้นที่เมนูด้านซ้าย ให้เลือก Domain Management เพื่อเข้าสู่หน้าจัดการโดเมน

ในช่อง Primary Domain ให้กรอกโดเมนเนมที่เราต้องการลงไปแล้วกด Save Changes ได้เลย แล้ว Cloudways จะทำการอ่านฐานข้อมูลและแก้ไข URL ภายในเว็บไซต์ให้ตรงกับโดเมนนี้โดยอัตโนมัติ
ทั้งนี้หลังจากกรอกโดเมนเนมแล้ว เราจำเป็นต้องไปแก้ไข DNS Record ของโดเมนด้วยอีกทีหนึ่ง เพื่อให้โดเมนนั้นชี้มายังเซิร์ฟเวอร์ของเรา
การแก้ไข DNS Record นั้นขึ้นอยู่กับว่าโดเมนเราใช้ DNS Server ที่ไหน ซึ่งบางเจ้าที่มีเครื่องไม้เครื่องมือหน่อยจะสามารถกำหนด DNS Record จากตัวควบคุมโดเมนได้เลย ทั้งนี้ผู้ให้บริการในไทยส่วนใหญ่จะให้ผู้ใช้ชี้ DNS Server ไปยังผู้ให้บริการโฮสต์ติ้ง (ที่ต้องเข้าไปกรอก ns1.domain.com, ns2.domain.com นั่นแหละ) หรือใครใช้ Cloudflare อยู่ก็สามารถแก้ไข DNS Record ได้จากเมนู DNS ของ Cloudflare เลย
ส่วนที่เราจะต้องแก้ DNS Record นั้น หลักๆ จะเป็นค่าของ A Record ซึ่งจะต้องแก้ไขอยู่ 2 ส่วนด้วยกัน คือเรคคอร์ดของ www และ @ (บางเจ้าก็จะขึ้นเป็นโดเมนของเราเอง) โดยแก้ไขหมายเลข IP ให้ชี้ไปยัง IP ของเซิร์ฟเวอร์เรา (ดูเลข IP ได้จากหน้า Server หรือหน้า Access Details)
ตัวอย่างการกำหนดค่า DNS ใน Cloudflare

หรือหากใครใช้โฮสต์ที่เป็น Direct Admin สามารถเข้าถึงเมนู DNS Management ได้จาก Direct Admin และแก้ไขค่า A ให้ถูกต้อง

หลังจากแก้ไข DNS แล้ว ก็เพียงแค่รอให้ DNS อัพเดท (ซึ่งปกติจะใช้เวลาอย่างนานก็ครึ่งวัน หรือหากเป็น Cloudflare ก็จะเปลี่ยนในทันที) ก็จะสามารถเข้าใช้งานเว็บไซต์ผ่านโดเมนของเราได้แล้ว
บริการย้ายโฮสต์ฟรี
หากใครที่ย้ายโฮสต์ด้วยตัวเองไม่สำเร็จ (ไม่ว่าจะย้ายด้วยมือ หรือย้ายผ่านปลั๊กอิน) ทาง Cloudways นั้นจะมีบริการช่วยย้ายโฮสต์ให้เราแบบฟรีๆ ด้วยหนึ่งครั้ง (ครั้งต่อไปเสียเงิน) โดยเราจำเป็นจะต้องกรอกรหัสบัตรเครดิต/เดบิตเสียก่อนเพื่อเป็นการเปิดใช้งานบัญชีอย่างสมบูรณ์ จากนั้นจึงติดต่อกับทางซัพพอร์ตของ Cloudways เพื่อดำเนินการย้ายโฮสต์
เปิดใช้งาน SSL
บน Cloudways นั้นรองรับการติดตั้ง SSL ฟรีจาก Let’s Encrypt อยู่ด้วย วิธีเปิดใช้งานก็ง่ายดาย เพียงแค่เปิดไปเมนู SSL Certificate เลือก SSL เป็น Let’s Encrypt SSL Certificate กรอกอีเมลและโดเมนเนม และกด Install Certificate ก็พร้อมใช้งาน

หรือหากเป็น Certificate ที่ซื้อมา ก็สามารถติดตั้งได้ผ่านตัวเลือก Custom Certificate (ในตอนนี้เราไม่มีใบรับรองที่จะทดสอบติดตั้งให้ดูครับ ดังนั้นจินตนาการกันไปก่อน)
ทิ้งท้าย
สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผมย้ายโฮสต์ออกจากผู้ให้บริการในไทย นั่นคือเรื่องของแบนด์วิดอินเตอร์ ที่หลายเจ้านั้นมีอยู่แบบค่อนข้างจำกัดจำเขี่ย ทำให้ในหลายๆ ครั้งเราไม่สามารถอัพเดทเวิร์ดเพรสได้ (เจอหนักสุดคือทำไม่ได้แม้กระทั่งการค้นหาปลั๊กอินเพื่อติดตั้ง) ซึ่งการย้ายโฮสต์ออกไปยังคลาวด์ (ที่วางไว้ที่สิงคโปร์) ก็ช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้ 100%
นอกจากนี้หากใครที่ทำเว็บขนาดใหญ่ มักจะเจอปัญหาถูกโฮสต์เตะออกเนื่องจากกินโหลดสูง และต้องเปลี่ยนไปใช้ VPS แทน ซึ่งหลายๆ คนก็ไม่ได้เชี่ยวชาญขนาดที่สามารถดูแลเซิร์ฟเวอร์เองได้ ซึ่งบริการอย่าง Cloudways นี้จะช่วยให้ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องเข้ามายุ่งเกี่ยวกับตัวเซิร์ฟเวอร์เลย (แต่ถ้าต้องการก็สามารถทำได้เช่นกัน เพราะเขาจะเปิดให้สามารถ SSH เข้าไปจัดการเซิร์ฟเวอร์ได้)
ทั้งนี้ยังมีบริการอีกตัวหนึ่งคือ ServerPilot ที่ให้บริการในลักษณะคล้ายกัน แต่จะให้ผู้ใช้สร้าง Droplet บน DigitalOcean เอง วิธีนี้จะช่วยให้ผู้ใช้สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายลงไปได้อีกครึ่งหนึ่ง
Leave a Reply