Gutenberg อนาคตหรือหายนะ? | WP63

Gutenberg อนาคตหรือหายนะ?

WordPress 5.0 ได้ปล่อยออกมาอย่างเป็นทางการเมื่อช่วงดึกๆ เมื่อคืนนี้  โดยสิ่งที่เปลี่ยนแปลงมากที่สุดคือตัวแก้ไขเนื้อหาแบบใหม่  ที่เปลี่ยนมาใช้ Gutenberg แทน TinyMCE แบบเดิม  และวันนี้เราจะมาพูดถึง Gutenberg กัน

Gutenberg นั้นเปลี่ยนแนวคิดในการแก้ไขเนื้อหาไปจากเดิมที่มองว่าเนื้อหาเป็น HTML ก้อนเดียวกันทั้งหมด  ไปเป็นการแบ่งเนื้อหาแต่ละส่วนออกเป็นบล็อกแทน ซึ่งจะคล้ายๆ กับแพลตฟอร์มเนื้อหายอดนิยมในตอนนี้อย่าง Medium.com (ทั้งนี้เนื้อหาจะโดนแพ็ครวมกลับเป็น HTML ก้อนเดียวเหมือนเดิมโดยจะคั่นแต่ละบล็อกด้วยคอมเมนต์  ดังนั้นบล็อกเนื้อหาพื้นฐานต่างๆ จะยังสามารถแสดงผลบนธีมเก่าๆ ได้อย่างแน่นอน) 

วิธีที่ Gutenberg ใช้ในการเก็บเนื้อหา

มิตรสหายท่านหนึ่งกล่าวไว้ว่าหากเวิร์ดเพรสยังคงเดินไปในเส้นทางนี้  จะถือว่าเป็นหายนะ  คำถามคือจริงหรือเปล่า?

Gutenberg คือหายนะจริงหรือ?

แนวคิดของการจัดเนื้อหาเป็นบล็อกนั้นทำให้เราสามารถปรับแต่งเนื้อหาในแต่ละส่วนได้อย่างอิสระมากขึ้น  บล็อกแต่ละบล็อกจะสามารถปรับการตั้งค่าของตัวเองได้อย่างอิสระ  และสามารถทำได้โดยตรงจากตัวแก้ไขเนื้อหาโดยไม่จำเป็นต้องเปิดไปแก้ HTML ทั้งยังเปิดให้เราสามารถใส่เนื้อหาในรูปแบบแปลกๆ ลงไปในโพสต์ได้โดยตรงแทนที่จะใช้ Shortcode เหมือนอย่างแต่ก่อน  ทำให้ในหลายๆ กรณีเว็บของเราจะประมวลผลได้เร็วขึ้นด้วยเพราะไม่จำเป็นต้องไปประมวลผล Shortcode

ดังนั้นแล้วในเว็บที่เน้นเนื้อหาเป็นหลัก  การมาของ Gutenberg นั้นจะเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับทีมเขียนเนื้อหามากกว่าการใช้ TinyMCE ด้วยซ้ำไป  เพราะผู้เขียนไม่จำเป็นต้องใส่ Shortcode แปลกๆ แล้วจินตนาการผลลัพธ์เอาเอง  หรือไม่จำเป็นต้องไปแก้ไข HTML โดยตรงอีกต่อไป  แต่จะเปลี่ยนมาเป็นการเพิ่มบล็อกและแก้ไขตัวเลือกของบล็อกโดยตรงแทน

หากจะเทียบ Gutenberg กับ TinyMCE เดิมแล้ว  อาจจะต้องบอกว่า Gutenberg เตรียมเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ เอาไว้ให้น้อยกว่าจริงๆ (อย่างน้อยผมก็หาปุ่มแทรกอักขระพิเศษไม่เจอปุ่มหนึ่งแล้ว  นี่ยังไม่นับปลั๊กอิน TinyMCE Advanced อันเป็นที่รักของหลายๆ คนอีก) แต่ข้อได้เปรียบของ Gutenberg คือความยืดหยุ่นในการเอาไปปรับใช้งานต่างหาก

บล็อกใน Gutenberg

เราจะยกตัวอย่างความสามารถของบล็อก  เช่นการเพิ่มภาพหลายๆ ภาพเป็นแกลลอรี่  ที่จากเดิมเราจะต้องกด Add media แล้วเลือก Create Gallery แล้วจึงเลือกภาพ  จากนั้นมันก็จะถูกแปลงเป็น Shortcode ในลักษณะ [ gallery ids="375,376,377,378,379" ] ซึ่งจะแสดงผลมาแบบนี้

แต่ถ้าเราใช้บล็อก Gallery ใน Gutenberg เราจะมีตัวเลือกในการปรับการแสดงผลว่าจะแสดงผลออกมาอย่างไร  และภาพต่างๆ จะถูกฝังลงในเนื้อหาโดยตรง  ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาประมวลผลอีกรอบในระหว่างการแสดงผล

การสร้างตารางที่จากเดิมเราต้องเขียน HTML เอง  หรือลงปลั๊กอินเพิ่มอย่าง TinyMCE Advanced ในตอนนี้เราสามารถสามารถสร้างตารางได้โดยตรงจากใน Gutenberg ด้วยเช่นกัน

ฟีเจอร์GutenbergTinyMCE
Gallerybuilt-inshortcode
Tablebuilt-inplugin
Columnbuilt-inplguin

หรือการจัดเนื้อหาในลักษณะคอลัมน์ก็สามารถทำได้จากตัว Gutenberg เลยโดยไม่จำเป็นต้องลง Shortcode เพิ่มอีกด้วย

Nulla condimentum sit amet lectus vestibulum auctor. 

Lorem ipsum dolor sit amet, consectetur adipiscing elit. Nunc viverra mauris quis finibus rutrum. Quisque quis metus eget nisl efficitur placerat. Vestibulum ante ipsum primis in faucibus orci luctus et ultrices posuere cubilia Curae; Ut ut finibus purus.

Maecenas iaculis hendrerit aliquet. Donec sollicitudin libero nec ligula viverra, sed commodo libero lobortis. Donec lacinia arcu id sodales interdum. Nunc gravida, mi in elementum elementum, leo mi imperdiet nunc, consectetur finibus erat urna vitae ante.

และแน่นอนว่าหากเราต้องการบล็อกที่มีความสามารถเฉพาะตัว  เราก็สามารถเขียนปลั๊กอินสร้างบล็อกของเราเองขึ้นมาได้เช่นกัน  ซึ่งเราจะมีโครงการอย่าง create-guten-block ที่ช่วยขึ้นโครงปลั๊กอินให้เราสามารถเริ่มเขียนปลั๊กอินได้ทันที  โดยไม่จำเป็นต้องคอนฟิกอะไรให้ยุ่งยาก

พื้นที่โฆษณา – เดี๋ยวเราจะเขียนวิธีการสร้างบล็อกด้วย create-guten-block ให้อ่านกันครับ

Reusable block – บล็อกที่หยิบกลับมาใช้ซ้ำได้

Reuseable block ช่วยให้เราสามารถสร้างบล็อก  ใส่ค่าให้เรียบร้อย  แล้วบันทึกเอาไว้เพื่อเอากลับมาใช้ซ้ำในทีหลังได้  ตัวอย่างเช่นบล็อกแฟนเพจข้างๆ นี้

และเมื่อเราแก้ไขบล็อกนี้ไม้ว่าจะจากที่ใดก็ตาม  ทุกที่ในเว็บเราที่มีการเรียกใช้งานบล็อกนี้ก็จะได้รับการอัพเดทไปด้วยโดยอัตโนมัติ

นั่นทำให้ Reusable block น่าจะมีประโยชน์กับเว็บที่ต้องมีการแปะเนื้อหาซ้ำกันบ่อยๆ เช่นบล็อกโฆษณา  หรือบล็อกสำหรับติดต่อกลับ (หรือจะเป็นแฟนเพจแบบนี้ก็ได้เช่นกัน)

Metabox

Metabox หรือกล่องเครื่องมือต่างๆ นั้นเป็นอีกเรื่องที่ชุมชนผู้ใช้ค่อนข้างที่จะเป็นกังวล  เพราะปลั๊กอินจำนวนมากนั้นพึ่งพาความสามารถของ Metabox นี่อยู่

Metabox คือบรรดากล่องเครื่องมือในหน้าแก้ไขเนื้อหาเหล่านี้นี่เอง

แม้ในตอนแรกจะมีข้อมูลออกมาว่า Gutenberg จะไม่รองรับการแสดง Metabox แต่ในความเป็นจริงแล้ว Gutenberg รองรับการแปลง Metabox มาแสดงบนหน้า Gutenberg ให้โดยอัตโนมัติ  แต่จะมีข้อจำกัดอยู่บ้างเช่น

  • Metabox ที่ทำงานเมื่อกดปุ่ม save หรือ submit จะไม่สามารถทำงานได้
  • Metabox ที่มี Javascript ที่ target ไปยัง Metabox จะไม่สามารถทำงานได้
  • Metabox ที่ต้องใช้ API ของ TinyMCE

ซึ่งจากข้อจำกัดข้างต้น  จะหมายความว่าปลั๊กอินส่วนมากที่ใช้งาน Metabox จะสามารถนำมาใช้ต่อบน Gutenberg ได้ในทันที  เช่น Yoast SEO ก็รองรับ Gutenberg แล้วเช่นกัน

Gutenberg vs Page Builder

ด้วยข้อจำกัดต่างๆ ที่ยกตัวอย่างไปแล้วในข้างต้น  และอีกหลายๆ ข้อจำกัด  ทำให้ที่ผ่านมามีการสร้างปลั๊กอินกลุ่ม Page Builder ขึ้นมาสำหรับจัดหน้าเนื้อหาในเวิร์ดเพรส  หรือแม้กระทั่งนำมันไปใช้ในการจัดหน้าเว็บทั้งหน้าด้วย

อันนี้ต้องพูดเลยว่า Gutenberg ยังตามหลัง Page Builder หลายๆ ตัวอยู่ในตอนนี้  ฟีเจอร์หลายอย่างที่ควรมี  ยังคงเป็น issue อยู่ใน GitHub

แต่ด้วยแรงผลักดันทั้งจาก Automattic เองและจากชุมชนผู้พัฒนา  น่าจะทำให้ Gutenberg มีฟีเจอร์ทัดเทียมกับ Page Builder ได้ในไม่นานนี้

ฉันควรจะใช้ Gutenberg หรือยัง?

ว่ากันตามตรงแล้วในตอนนี้ Gutenberg ยังไม่ใช่ตัวเลือกในระดับที่จำเป็นต้องไปใช้  แม้ว่า Gutenberg จะมีการปรับปรุงขึ้นมาก  แต่ฟีเจอร์หลายๆ อย่างก็ยังคงขาดอยู่  โดยเฉพาะในกลุ่มที่ใช้ Page Builder อยู่แล้ว  ในช่วงนี้แนะนำให้อยู่กับ Page Builder ตัวเดิมไปก่อนจะดีกว่า

ในขณะที่ใครที่ใช้ TinyMCE อยู่  ก็ควรเริ่มหัดใช้ Gutenberg เสียตั้งแต่ตอนนี้ด้วย  เพราะในอนาคตยังไงก็หนี Gutenberg ไม่รอดแน่นอน  โดยเมื่อเราอัพเกรดเป็น WordPress 5.0 แล้ว  เนื้อหาที่เคยเขียนด้วย TinyMCE จะถูกแปลงเป็นบล็อก Classic แบบนี้

และสุดท้ายคนที่เพิ่งเริ่มใช้เวิร์ดเพรส  กลุ่มนี้แนะนำว่าควรจะเริ่มกับ Gutenberg ไปเลยเถอะครับ

แต่ฉันยังจำเป็นต้องใช้ Classic Editor อยู่นะ

Classic Editor เป็นคำที่ทางเวิร์ดเพรสใช้เรียกตัวแก้ไขเนื้อหาแบบเดิม หรือ TinyMCE ที่ใช้กันมาตั้งแต่ยุคแรกๆ ซึ่งใครที่มีระบบมีปัญหาความเข้ากันได้กับ Gutenberg เช่นปลั๊กอินที่ใช้นั้นไม่สามารถทำงานร่วมกับ Gutenberg ได้  เราก็สามารถลงปลั๊กอิน Classic Editor เพื่อเปิดใช้งานหน้าแก้ไขเนื้อหาแบบเก่าได้เช่นกัน  โดยปลั๊กอินนี้จะได้รับการซัพพอร์ตไปจนถึงปี 2021 ซึ่งในระหว่างนี้เราแนะนำว่าให้ทำการอัพเดทหรือแก้ไขปลั๊กอินต่างๆ ที่มีปัญหากับ Gutenberg แล้วสลับไปใช้ Gutenberg ให้ทันกำหนดจะดีที่สุด

สรุปแล้วมันหายนะมั้ย?

เอาสั้นๆ เลยก็คือ “ไม่” ครับ  เพียงแต่ในตอนนี้มันยังไม่พร้อม 100% และอาจจะต้องใช้เวลาอีกสักพักหนึ่ง  ทั้งนี้ผมเชื่อว่าในอนาคต Gutenberg น่าจะเข้าไปแทนที่ Classic Editor ทั้งหมดอย่างแน่นอน

ในตอนนี้เรามายืนกันอยู่ตรงขอบ comfort zone กันแล้ว  อยู่ที่เราจะก้าวออกมาก่อนหรือหลังก็เท่านั้นเอง

สวัสดี


Posted

in

by

Tags:

Comments

One response to “Gutenberg อนาคตหรือหายนะ?”

  1. Tor.Natthakon Avatar

    เป็นบทความที่ดีครับ
    ผมลองใช้งาน Gutenberg ตั้งแต่ที่เริ่มปล่อยออกมา สำหรับเว็บไซต์บล็อกธรรมดา ถือว่าใช้งานได้ดีครับ

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.