สร้างบล็อค Gutenberg แบบง่ายๆ ด้วย Advanced Custom Fields

หลังจากที่เวิร์ดเพรส 5.0 ได้นำเสนอ Gutenberg ซึ่งเป็นตัวแก้ไขเนื้อหาตัวใหม่ที่เขียนด้วยจาวาสคริปท์ออกมา ก็ได้มีเครื่องมือหลายตัวถูกปล่อยออกมาเพื่อช่วยให้เราสามารถสร้างบล็อค Gutenberg เพิ่มเติมได้ง่ายขึ้นเช่น create-guten-block ที่เราเคยพูดถึงไปบ้างแล้ว

สำหรับใครที่ทำเว็บใหญ่ๆ ด้วยเวิร์ดเพรสมาก่อน คงคุ้นเคยกับปลั๊กอินคู่บุญชาวเวิร์ดเพรสอย่าง Advanced Custom Fields เป็นอย่างดี ซึ่งตัวมันนั้นครอบคลุมสากเบือยันเรือรบ เช่นทำ Custom field ให้กับ Post, Page, Category, User, ไปจนถึงฟิลด์ของ Widget, และหน้า Option ของธีม

และแน่นอนว่า Advanced Custom Fields ก็ไม่พลาดที่จะโดดมาร่วมวงกับ Gutenberg ด้วย และได้เพิ่มฟีเจอร์รองรับการสร้างบล็อค Gutenberg เข้ามาใน ACF Pro 5.8

ในขณะที่เขียนบทความนี้อยู่ ACF รุ่นเสถียรล่าสุดจะอยู่ที่รุ่น 5.7.11 ส่วน ACF 5.8 ยังอยู่ใน Beta 3 ซึ่งผู้ใช้จำเป็นต้องซื้อ ACF Pro เอาไว้ก่อน จึงจะสามารถเข้าไปโหลด ACF 5.8 Beta ได้

โดยปกตินั้นการที่เราจะสร้างบล็อค Gutenberg ได้ เราจำเป็นต้องมีความรู้เรื่อง JavaScript ก่อน และจะต้องมีพื้นฐานของ React อยู่ในระดับหนึ่ง แต่ฟีเจอร์การสร้างบล็อค Gutenberg ใน ACF นี้จะทำให้เราไม่ต้องยุ่งกับการเขียน JavaScript เลยแม้แต่ตัวเดียว

ในการสร้างบล็อคด้วย ACF นั้นมีเพียง 4 ขั้นตอนเท่านั้นคือ

  1. ประกาศฟังก์ชันสำหรับรีจิสเตอร์บล็อคใหม่
  2. ประกาศฟังก์ชันสำหรับใช้เรนเดอร์บล็อค
  3. ฮุคฟังก์ชันรีจิสเตอร์บล็อคเข้าไปในแอคชัน acf/init
  4. สร้างฟิลด์ ACF ที่ลิงก์กับบล็อคของเรา

เราไปเริ่มกันเลยดีกว่า

รีจิสเตอร์บล็อกใหม่

ขั้นแรกให้เราสร้างไฟล์เปล่าๆ ขึ้นมาหนึ่งไฟล์ จากนั้นประกาศคลาสด้วยชื่อที่เราต้องการ (จะใช้ namespace หรือไม่ก็ได้ แล้วแต่สะดวกเลย แต่เราแนะนำให้ใช้)

<?php
namespace WP63\Block;

class SampleBlock {

}

จริงๆ เราสามารถสร้างบล็อคใหม่นี้ด้วยการเขียนแบบ procedural ทั้งหมดได้ แต่ในบทความนี้เราจะพาไปเขียนแบบ OOP เพราะเมื่อมีบล็อคจำนวนมากขึ้น การเขียนแบบ OOP จะเป็นระเบียบกว่านิดหน่อย

ขั้นตอนต่อไปให้เราประกาศเมท็อด __invoke() ขึ้นมาภายในคลาส เพื่อที่จะใช้เป็นเมท็อดสำหรับรีจิสเตอร์บล็อคของเรา

เมท็อด __invoke() เป็นเมจิกเมท็อดของ PHP ที่จะทำงานเมื่อคลาสถูกเรียกขึ้นมาในฐานะ callable (เช่นผ่าน call_user_func())

ภายในเมท็อดนี้จะมีการเรียกใช้ฟังก์ชัน acf_register_block() สำหรับรีจิสเตอร์บล็อคใหม่

<?php
namespace WP63\Block;

class SampleBlock {
  public function __invoke() {
    acf_register_block([
      'name' => 'wp63_sample',
      'title' => __('Sample Block', 'textdomain'),
      'description' => __('Sample block for Gutenberg', 'textdomain'),
      'render_callback' => [$this, 'render'],
      'category' => 'layout',
      'icon' => 'editor-table'
    ]);
  }
}

ฟังก์ชัน acf_register_block() จะรับอาร์กิวเมนต์เป็นอาเรย์ โดยจะมีค่าต่างๆ ดังนี้

  • name ชื่อของบล็อค (unique ห้ามซ้ำ)
  • title ชื่อที่จะใช้แสดงในหน้า Gutenberg
  • description คำอธิบายบล็อค
  • render_callback ฟังก์ชันสำหรับเรนเดอร์บล็อค
  • category หมวดหมู่ของบล็อค โดยค่าเริ่มต้นจะมี 5 หมวดคือ common, formatting, layout, widgets, และ embed
  • icon ไอคอนของบล็อค ระบุเป็นชื่อ dashicon

ตรงนี้อยากให้สังเกตุ 2 อย่างคือ อย่างแรกที่ title และ description จะมีการครอบฟังก์ชัน __() เอาไว้ ฟังก์ชันนี้จะเป็นฟังก์ชันทำให้ข้อความในฟังก์ชันสามารถ “แปล” ได้ ส่วนพารามิเตอร์ที่สอง (ที่เขียนไว้ว่า textdomain) ตรงนี้คือ text domain ที่โดยปกติจะใช้จัดกลุ่มว่าข้อความนี้เป็นของธีมหรือปลั๊กอินไหน

และอย่างที่สองคือที่อาร์กิวเมนต์ render_callback ที่แทนที่เราจะใส่ชื่อฟังก์ชันลงไปตามปกติ แต่เราใส่อาเรย์ลงไปแทน การใส่อาเรย์ลงไปแบบนี้จะเป็นการเรียกใช้เมท็อดที่อยู่ภายในคลาสมาเป็น callable function แทนการเรียกฟังก์ชันปกติแทน โดนอาเรย์ค่าแรกคือชื่อคลาส ($this จะหมายถึง instace ของคลาสปัจจุบัน) และอาเรย์ตัวที่สองจะเป็นชื่อเมท็อดที่ต้องการเรียก

เมท็อดสำหรับเรนเดอร์บล็อค

หลังจากเรารีจิสเตอร์บล็อคผ่านเมท็อด __invoke() เรียบร้อยแล้ว ขั้นต่อไปคือสร้างเมท็อดสำหรับใช้เรนเดอร์บล็อคของเรา ซึ่งจากในขั้นตอนที่แล้ว เราได้ระบุเมท็อดที่ชื่อว่า render() เอาไว้ในอาร์กิวเมนต์ render_callback ดังนั้นก็ให้เราประกาศเมท็อดนี้ขึ้นมาภายในคลาส โดยเมท็อดนี้จะรับพารามิเตอร์หนึ่งตัวคือ $block ที่เป็นตัวแปรเก็บค่าการตั้งค่าต่างๆ ของบล็อคเอาไว้

<?php
namespace WP63\Block;

class SampleBlock {
  public function __invoke() {
    acf_register_block([
      'name' => 'wp63_sample',
      'title' => __('Sample Block', 'textdomain'),
      'description' => __('Sample block for Gutenberg', 'textdomain'),
      'render_callback' => [$this, 'render'],
      'category' => 'layout',
      'icon' => 'editor-table'
    ]);
  }

  public function render( $block ) {
    echo '<section class="wp63-samplecard">';
    echo '<h3 class="title">' . get_field('title') . '</h3>';
    echo '<div class="description">' . get_field('description') . '</div>';
    echo '</section>';
  }
}

ภายในเมท็อด render() จะไม่มีอะไรพิเศษเลยนอกจากการแสดงผล เราสามารถแสดงผล html และเรียกใช้ฟิลด์ ACF ผ่านฟังก์ชัน get_field() (และอื่นๆ) ได้ตามปกติเหมือนกับที่เราใช้งานในธีมของเรา และสามารถเรียกใช้การตั้งค่าของบล็อคได้จากตัวแปร $block ด้วย

อีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้โค้ดส่วนนี้สะอาดขึ้นคือแยกส่วนแสดงผลไปใส่ไว้ในไฟล์เท็มเพลตแยกกันเลย แล้วใช้วิธี include() ไฟล์เท็มเพลตนั้นเข้ามาแสดงผล

  public function render( $block ) {
    if( file_exists( get_theme_file_path("/template-parts/block/sample-block.php") ) ) {
        include( get_theme_file_path("/template-parts/block/sample-block.php") );
    }
  }
<section class="wp63-samplecard">
  <h3 class="title"><?php the_field('title'); ?></h3>
  <div class="description"><?php the_field('description'); ?></div>
</section>

ส่วนไฟล์พวก CSS และ JavaScript ต่างๆ ที่จำเป็นต่อการแสดงผล เราสามารถ enqueue เข้ามาตามปกติได้เลย

ฮุคคลาสเข้ากับแอคชัน acf/init

ขั้นตอนสุดท้ายที่จะได้ยุ่งเกี่ยวกับการเขียนโค้ดนี้คือการฮุคคลาสของเราเข้ากับแอคชัน acf/init เพื่อให้ทำการรีจิสเตอร์บล็อคของเราเข้าไปในระบบในช่วงที่ ACF เริ่มการทำงานเลย

ให้เราเปิดไฟล์ functions.php ของธีมเราขึ้นมา (หรือไฟล์อื่นๆ แล้วแต่ที่เราออกแบบระบบไว้) ให้ทำการ include ไฟล์คลาสของเราเข้ามาให้เรียบร้อย (หรือใครจะใช้ autoload ก็ได้) แล้วก็ฮุคเข้าไปใน acf/init ตามนี้

<?php
require_once('gutenberg-blocks/sample.php');

add_action('acf/init', new WP63\Block\SampleBlock);

เนื่องจากเราเขียนบล็อคของเราเป็นคลาส ดังนั้นแทนที่เราจะระบุ callback function เป็นชื่อฟังก์ชันตามปกติ ก็ให้เราสั่ง new เพื่อสร้าง instance คลาสเราขึ้นมา (จากตัวอย่างจะเป็นการใช้คลาสแบบมีกำหนด namespace ถ้าเราไม่ได้ใช้ namespace ก็สามารถ new ClassName ได้เลย)

ถึงตรงนี้แล้วบล็อคของเราก็จะปรากฎขึ้นมาใน Gutenberg แล้ว เพียงแต่หากกดไปแล้วก็ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น เพราะเรายังไม่ได้สร้างฟิลด์ใดๆ ให้กับบล็อคนี้

สร้างฟิลด์ใน ACF

หลังจากเรารีจิสเตอร์บล็อคเสร็จแล้ว ให้เราสร้างฟิลด์กรุ๊ปใหม่ขึ้นมาโดยไปที่ Custom Fields > Add New และในส่วน Location ให้เราเลือกบล็อคที่เราเพิ่งรีจิสเตอร์เข้ามา

จากนั้นก็ให้เราสร้างฟิลด์ขึ้นมาตามปกติเหมือนกับที่เราสร้างฟิลด์ให้เท็มเพลตต่างๆ

การใช้งานบล็อคที่สร้างด้วย ACF

บล็อคที่สร้างด้วย ACF จะมีการแสดงผลอยู่ 2 โหมด นั่นคือโหมด Preview ที่จะแสดงผลบล็อคของเราจริงๆ ว่าจะหน้าตาเป็นอย่างไร โดยในโหมดนี้เราจะสามารถแก้ไขบล็อคได้ผ่าน sidebar ของ Gutenberg และอีกโหมดคือโหมด Edit ที่จะขึ้นฟิลด์ ACF มาให้เราแก้ไขได้ตามปกติบนตัวบล็อคโดยตรง

เมื่อเราแก้ไขค่าใดๆ แล้ว บล็อคก็จะอัปเดตการแสดงผลให้อัตโนมัติด้วย

ทิ้งท้าย

เราเคยบอกไปหลายรอบแล้วว่าในที่สุดแล้วยังไงเราก็ไม่มีทางหนี Gutenberg พ้น ดังนั้นการหัดมันเสียตั้งแต่เนิ่นๆ จะทำให้เรายิ่งได้เปรียบคนอื่น ทั้งนี้การเขียน ES6 ยังเป็นกำแพงสำคัญของคนทำเวิร์ดเพรส (ที่ว่ากันตรงๆ ว่าส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ศึกษาเรื่องนี้ไว้สักเท่าไหร่) ดังนั้นเครื่องมือจำนวนมากจึงถูกสร้างออกมาเพื่อให้คนทำเวิร์ดเพรสสามารถหันไปใช้ Gutenberg ได้ง่ายขึ้น

คือเครื่องมือที่ว่านี่มีแม้กระทั่งกดลากๆ สร้างบล็อคจากหลังบ้านด้วยซ้ำไป แต่เราไม่แนะนำเท่าไหร่ เพราะดูท่าแล้วน่าจะหนักน่าดู

ส่วนทางของ ACF นั้นเรียกได้ว่าเป็นการปรับตัวหนีตายที่น่าประทับใจมากๆ เพราะสามารถเชื่อมจุดแข็งของตัวเองเข้ากับจุดอ่อนของ Gutenberg ได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้อย่างไรก็ตาม ACF 5.8 ยังคงอยู่ในสถานะ Beta ดังนั้นในอนาคตฟีเจอร์เกี่ยวกับการสร้างบล็อคอาจจะยังมีการเปลี่ยนแปลงได้อีก ซึ่งเป็นอย่างไรเราจะมาอัปเดตให้ได้อ่านกันเรื่อยๆ ครับ

แหล่งอ้างอิง – ACF 5.8 – Introducing ACF Blocks for Gutenberg


Posted

in

by

Tags:

Comments

3 responses to “สร้างบล็อค Gutenberg แบบง่ายๆ ด้วย Advanced Custom Fields”

  1. Tulyawat Mahawong Avatar

    เห็นด้วยเลยครับ หนีไม่พ้นจริงๆ

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.