หลายท่านน่าจะทราบดีว่าเราค่อนข้างอวย Cloudways แบบสุดลิ่มทิ่มประตู ซึ่งล่าสุดนี้ผู้ให้บริการชื่อดังในไทยอย่าง Bangmod Cloud ก็เปิดให้บริการ WordPress Cloud ออกมาด้วยเช่นกัน เราจึงลองเข้าไปใช้งานเฉพาะส่วน WordPress Cloud นี้ แล้วมาเขียนสรุปเทียบกับ Cloudways ให้อ่านกัน
ในโพสต์นี้เราจะขอพูดถึงฟีเจอร์ของบริการเป็นหลัก ในแง่ของประสิทธิภาพและบริการสนับสนุนนั้นเราค่อนข้างเชื่อในชื่อเสียงของ Bangmod Cloud อยู่แล้ว คงไม่ต้องอธิบายอะไรมากมายนัก
เริ่มใช้งานครั้งแรก
ว่ากันตรงๆ ผมไม่ค่อยประทับใจระบบหลังบ้านของบางมดสักเท่าไหร่นัก เพราะขาดฟีเจอร์หลายๆ อย่างที่คุ้นเคย เช่น
- ไม่มี 2-factor authentication
- บริการ WordPress Cloud ไม่รองรับการชาร์จบัตรเครดิตแบบ post-paid
- ต้องเติมเงินเข้าระบบขั้นต่ำเท่ากับค่าบริการ 7 วัน ถึงจะเริ่มสร้างเครื่องได้
- แต่เงินที่เติมเข้าระบบไปแล้ว ตาม policy จะไม่คืนเงินให้ในทุกกรณี

คือจริงๆ มันก็จ่ายผ่านบัตรเครดิตด้วย Paypal ได้แหละ แต่ชาร์จรุนแรงถึง 5% ส่วนการเติมเงินทั้งสองช่องทางก็จะมีการคิด VAT แยกอีก 7% และเติมเป็นเศษสตางค์ไม่ได้ เช่นจะเติม 37.50 บาทไม่ได้ ต้องเติม 38 บาท บวก VAT 7% คือ 40.66 บาท (ถ้าเติมผ่าน Paypal ก็บวกไปอีก 5%)
โดยส่วนตัวนี่ว่าน่าเสียดายมากเลยนะที่มันชาร์จบัตรเป็นเดือนๆ ไปไม่ได้ ต้องคอยมาเติมเงินเข้าระบบเอาเรื่อยๆ แบบนี้คือถ้าใครไม่แน่นอนว่าจะใช้นานแค่ไหน คงคิดหนักสักหน่อย
เซิร์ฟเวอร์คลาวด์
อันนี้รู้สึกเข้าใจง่ายดี ออพชันไม่ยุ่บยั่บเท่าไหร่ พอเราสร้างเซิร์ฟเวอร์เสร็จ ก็จะมาพร้อมกับ WordPress หนึ่งเว็บ (เทียบได้กับ Server และ Application ของ Cloudways แต่อันนี้สร้างได้แต่ WordPress เลย)

แต่ส่วนที่ชวนสับสนอยู่หน่อยคือ welcome email ที่พอเราสร้างเซิร์ฟเวอร์เสร็จ จะมีเมลมาหาเราฉบับนึงบอกว่าเซิร์ฟเวอร์สร้างเสร็จแล้วนะ ล็อกอินด้วย root กับ SSH Public Key ที่เลือกไว้ได้เลย หลงดีใจอยู่ห้านาทีว่าจะได้ full access (ที่ Cloudways ไม่มีให้) แต่แล้วก็พบว่า เอ๊ะ มันไม่มีให้เลือก SSH Public Key นี่หว่า
สรุปคือไม่ได้นะ

เข้าใจว่าอีเมลนี่น่าจะเป็น default ของการสร้าง Cloud server ของทางบางมด แล้วทีมงานน่าจะลืมเปลี่ยนตอนเปิดบริการ WordPress Cloud (ลิงก์ในเมลก็ยังไปหาหน้า Cloud server อยู่)
พอสร้างเซิร์ฟเวอร์มาเสร็จ ก็จะเพิ่มเว็บ WordPress อัตโนมัติ แล้วมีอีเมลส่งมาให้อีกฉบับ พร้อมบอก Username และ Password ของส่วนต่างๆ เช่นหลังบ้านเวิร์ดเพรส, ฐานข้อมูล, รวมไปถึง SSH ด้วย

อันนี้ดีใจมากที่ได้ SSH Access มาด้วย (โดยส่วนตัวคิดว่าสมัยนี้มันควรมี SSH Access มาให้เป็นมาตรฐานได้แล้ว) คือในตอนแรกผมลองตรวจสอบแล้วพบว่าฟีเจอร์ที่หายไปจำนวนมากนั้นเราสามารถทดแทนได้ด้วย Shell Access เช่นสามารถเขียนสคริปท์ backup อัตโนมัติเองได้, ใช้ git pull ในการดีพลอยได้, ตั้ง cron ในการทำงานตามเวลาต่างๆ ได้, หรือแม้แต่แก้ไขไฟล์บนเซิร์ฟเวอร์โดยตรง
แต่…

อันนี้จะต่างกับ Cloudways มากๆ ตรงที่ของ Cloudways เราจะได้สิทธิ์เท่ากับ user ปกติเลย สามารถติดตั้งโปรแกรมต่างๆ เพิ่มได้ (เฉพาะใน user space) และใช้งาน shell ได้ปกติทุกอย่างเท่าที่ limited user จะทำได้
แต่สำหรับหลายๆ คนที่ไม่ได้ต้องการ Shell Access เพื่อเข้ามาทำนั่นนี่ และต้องการแค่ที่จะเชื่อมต่อ SFTP เพื่ออัปโหลดไฟล์ ก็ถือว่าพอใช้งานได้อยู่
นอกจากนี้ตัวเซิร์ฟเวอร์ก็ไม่สามารถปรับแต่งอะไรได้มากนัก นอกจากปรับสเป็คของ CPU, RAM, และ Storage แล้ว เราไม่สามารถคอนฟิกอีเมลได้ ไม่สามารถเปลี่ยนเวอร์ชัน MySQL/MariaDB ได้ ไม่สามารถเปลี่ยนเวอร์ชัน PHP ทำไม่ได้แม้แต่จะแก้คอนฟิกของ PHP

คือเข้าใจว่าติดต่อซัพพอร์ตให้ทำให้ได้นะ แต่โดยส่วนตัวคิดว่าน่าจะใส่เข้ามาให้แก้ได้เองด้วย อย่างน้อยๆ ก็เลือกเวอร์ชัน PHP ได้ก็ยังดี
ข้อเสียอีกอย่างหนึ่งคือมันไม่มี log ใดๆ ให้ดูผ่าน Control Panel เลย และ SSH เข้าไปก็ไม่เจอ เดาว่าน่าจะต้องให้ทางซัพพอร์ตดึงออกมาให้อีกเช่นกัน
WordPress Instance
จุดเหมือนร่วมกันระหว่างบางมดและ Cloudways คือในหนึ่งเซิร์ฟเวอร์ สามารถเพิ่มเว็บเวิร์ดเพรสเข้าไปกี่เว็บก็ได้จนกว่าเครื่องจะไม่ไหว แต่ของบางมดนั้นไม่สามารถปรับการตั้งค่าอะไรได้เลย นอกจากว่าจะใช้ค่า optimize สำหรับปลั๊กอินแคชตัวไหน (ซึ่งอันนี้ผมว่าเป็นฟีเจอร์ที่ดีนะ ในขณะที่ Cloudways จะบังคับกลายๆ ว่าให้ใช้ Breeze)

ในเรื่องฟีเจอร์นี่ต้องบอกว่าไม่ประทับใจเท่าไหร่นัก เพราะฟีเจอร์จำนวนมากที่ใช้บ่อยหายไป เช่น
- ไม่มีระบบ backup/restore (เข้าใจว่าบางมดมีแบ็คอัพ แต่ต้องติดต่อให้ซัพพอร์ตจัดการให้)
- ไม่มีระบบ cron
- ไม่รองรับการดีพลอยเว็บผ่าน git
- ไม่รองรับการทำ staging
เรามีบทความที่ใช้ฟีเจอร์พวกนี้ดองในสต็อคเอาไว้อยู่ครับ ติดตามกันไปเรื่อยๆ เดี๋ยวจะทยอยลงให้อ่านกัน
พูดสรุปง่ายๆ คือ WordPress Cloud ของบางมดนั้นฟีเจอร์น้อยกว่า Shared hosting บางเจ้าเสียอีก
WordPress Cloud ของบางมดเหมาะกับใคร?
ถ้าให้พูดตรงๆ มันเหมาะกับทุกคนที่ไม่ได้เรื่องมากแบบผมนั่นแหละ ใครที่ต้องการแค่ใช้ FileZilla เชื่อมต่อไปอัปโหลดไฟล์ แล้วเปิด phpMyAdmin มา import ฐานข้อมูล จะไม่ได้รับผลกระทบอะไรเลย เพราะนอกจากฟีเจอร์ที่ขาดหายไปตามที่ผมเขียนถึงไปข้างบนแล้ว ฟีเจอร์พื้นฐานที่ต้องใช้จริงๆ ก็ยังอยู่ เช่นการสร้าง SSL (แต่ดูแล้วน่าจะได้แต่ Let’s encrypt ซื้อ SSL มาใส่เองไม่ได้) หรือการเชื่อมต่อด้วย SFTP และ performance ก็ถือว่าดี เพียงแค่การคอนฟิกอะไรต่างๆ นั้นจำกัดจนแทบทำอะไรไม่ได้เลย
แต่ถ้าใครมีเซ็ตอัประบบแปลกๆ อะไรไว้หน่อย เช่นทำระบบดีพลอยผ่าน git มีการรัน post-deploy script นั่นนี่ จะต้องไปหาเครื่องมือภายนอกช่วยทำตรงนี้แทน
ส่วนใครจะเอามาปั่นเว็บทำ SEO น่าจะเหมาะ เพราะเราจ่ายค่าเครื่องแค่เครื่องเดียว แล้วสร้างเว็บขึ้นมาได้เรื่อยๆ ไม่จำกัด กอปรกับว่าเป็นคลาวด์ที่ปรับแต่งมาสำหรับ WordPress โดยเฉพาะ ประสิทธิภาพโดยรวมน่าจะดีกว่าการเช่า VPS มาตั้งค่าเองอยู่หลายช่วงตัว
Leave a Reply